วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

คำสอนของหลวงพ่อ (ต่อ1)

ต้องทราบไว้เสมอว่า คนที่เกิดมานี่ มีต้นกรรมไม่เสมอกัน
คนในโลกแบ่งออกเป็น ๔ ระดับคือ



๑) คนฉลาดมาก ที่ทำบุญไว้เต็มแล้ว มีบารมีครบถ้วนเพียงแนะนำแต่หัวข้อย่อยๆก็บรรลุมรรคผลทันที


๒) บางพวกปัญญาบารมีหย่อนนิดหน่อย พออธิบายก็บรรลุมรรคผล


๓) บางพวกพอแนะนำให้เข้าใจในกุศลเบื้องต้นได้ แต่เอาบรรลุมรรคผลไม่ได้
 
๔) พวกสุดท้าย เป็นพวกเหลือขอ พูดไม่รู้เรื่อง อวดตัวว่าเป็นผู้วิเศษ หมดทางแนะนำ



คนในโลกแบ่งออกเป็น ๔ พวกอย่างนี้ ลูกจงอย่าคิดว่าเขาจะเหมือนเราเสมอไป การแนะนำเป็นของดี แต่อย่าเอาใจเข้าไปผูกพัน ถือว่าบอกปล่อย เขาทำตามก็ดี ไม่ทำตามก็ช่าง เอาตัวเรารอดเป็นการพอแล้ว ปล่อยเขา เขาจะคิดจะพูด จะทำอย่างไร อย่าสนใจเป็นอันขาด.





แหล่งที่มา  :  เวปไซค์วัดท่าซุง

คำสอนของหลวงพ่อ




การที่จะได้ดีหรือไม่ได้ดี มันอยู่ที่ความจริงใจของเราเท่านั้น การเจริญพระกรรมฐานที่บอกว่าทำแล้วไม่ได้ดี ก็เพราะคนเราหาความจริงไม่ได้นั่นเอง ไม่ใช่มีอะไรยากลำบากที่ไหน เป็นของธรรมดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ทรงหาอะไรมาสอนเรา นอกจากนำกฏธรรมดาที่เรามีอยู่ ให้เรามาใช้ปฏิบัติให้ถูกทางเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาธิจิต เราก็ใช้กันอยู่เป็นปกติ แต่ว่าองค์สมเด็จพระชินศรีเห็นว่า สมาธิแบบนั้นเป็นโลกียสมาธิ ไม่เป็นทางหมดทุกข์ องค์สมเด็จพระบรมครูต้องการให้เรามีความสุข จึงให้ใช้สมาธิด้านกุศลจิตคิดหากุศลเข้าใส่ใจไว้เป็นประจำ ให้จิตมันจำไว้เฉพาะด้านกุศลอย่างเดียวจนเป็นเอกัคตารมณ์ เมื่อจิตทรงสมาธิได้ดีแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็สอนวิปัสนาญาน มีอริยสัจ เป็นต้น ให้พิจารณาเห็นทุกข์เหตุแห่งความทุกข์ที่มันจะมีขึ้นมาได้ก็เพราะอาศัยตัณหา มีความผูกพันในร่างกาย ซึ่งมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราก็วางร่างกายเสีย เพื่อพระนิพพาน.


 
 
 
แหล่งที่มา :  เวปไซค์วัดท่าซุง

วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ทำบุญแล้วได้บาปเป็นอย่างไร

"..ชาวบ้านเขาทำบุญกันแล้วมีการบวงสรวงอันเชิญเทวดา อันนี้ฉันไม่รู้เขาเชิญให้มาหรือไม่ให้มากันแน่ เราต้องดูส่วนประกอบหลายอย่าง จิตเขาสะอาดแค่ไหน ถ้าสะอาดไม่พอ ท่านได้ยินแต่ว่าท่านไม่มาซะอย่างก็หมดเรื่อง

อย่างทำบุญตามบ้าน ที่เขาทำพิธีอัญเชิญแล้วว่า “สัคเค กาเม จะรูเป ..." บางทีคนเชิญยังเมาแอ่น กลิ่นเหล้าฟุ้ง อย่างนี้เทวดาที่ไหนเขาจะมาล่ะ มีแต่ เปรตกับอสูรกาย มากันเป็นตับ มากันจริง ถ้าเมาแล้วไปว่า “สัคเค.." เข้าแบบนี้พัง

จะเล่าเรื่องให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง คือเรื่องมันเกิดขึ้นโดยบังเอิญ ตอนนั้นฉันมาช่วยเขาที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า 2 ปี มันมีอยู่คืนหนึ่งคนใกล้วัดบ้านเขาห่างจากวัดไม่ถึงครึ่งกิโลเมตร เขาตาย ญาติพี่น้องเขาก็มานิมนต์พระเณรที่วัดนั้นไปสวดอภิธรรมกันทั้งหมด วันนั้นการเจริญกรรมฐานก็เลยต้องพัก พระเณรไปหมดนี่ เหลือฉันอยู่คนเดียว ฉันไม่ได้ไปกับเขา เรื่องกินผีนี่เลิกกินมานานแล้ว


คืนนั้นฉันอยู่คนเดียว ประมาณสัก 2 ทุ่มหรือ 3 ทุ่ม กำลังนอนอยู่ก็เลยนึกขึ้นมาว่า เอ..เราไปเที่ยวนรก สวรรค์ พรหม นิพพาน ไปเที่ยวมาหมดแล้ว แต่ว่าข้างวัดนี่มันมีอะไรบ้าง เราไม่ได้มองเลย ก็เลยคิดว่าออกไปเดินดูข้างวัดดีกว่า ตัวก็นอนอยู่แต่ใจมันก็เดินออกไปรอบๆ วัด


พอไปถึงหลังวัด ตรงนั้นเขามีกองฟืนสำหรับไว้เผาศพอยู่ ก็ไปเจอะวิมานอยู่หลังหนึ่งใกล้ๆ กับกองฟอน ศาลพระภูมินี่ตามบ้านห้ามตั้งทางด้าน ทิศตะวันตก ถ้าดันไปตั้งทางด้านทิศตะวันตกก็มีหวังฉิบหายและตายโหง


ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า อากาศเทวดา เขามาอารักขาอยู่ เราไม่มีสิทธิที่จะใช้อากาศเทวดาเขาได้ เขาไม่ใช่ภุมิเทวดา เมื่อไปเจอะวิมานหลังนั้นเห็นว่าใหญ่โตพอสมควร เขาก็ไปยืนดู เอ..วิมานของใครวะ บริษัทบริวารข้างล่างมีอยู่ประมาณ 40 เศษ พอเราไปถึงเขาก็ถามพวกนั้นว่า “เฮ้ย..พวกนี้บ้านข้างวัดเขาตาย..ใครไปบ้านหว่า ?”


ที่เขาถามอย่างนี้ เพราะเขาต้องการให้เรารู้ พวกบริษัทก็บอกว่า “ผมไม่ครับ ๆ ๆ” เสียงตอบมาประมาณ 20 เศษ แล้วเขาก็ถามว่า “เป็นอย่างไรบ้างวะ ใครมาบ้าง ไปแล้วได้อะไรมาบ้างล่ะ”


พวกนั้นก็บอกว่า “มันจะไปได้อะไรครับ มันเมากันทั้งบ้าน แม้แต่คนอาราธนาธรรมก็เมาอีเหละเขะขะ"
“ เฮ้ย..มันจะไม่ได้อะไรบ้างเลยหรือ”
“มันไม่ได้อะไรเลยครับ มันมีแต่บาป..บุญไม่มีให้โมทนาเลย”


เราได้ยินแล้วก็จำไว้ พอตอนเช้าพระท่านก็ต้องไปฉันใช่ไหม ฉันเสร็จก็เลยเรียกพระที่เขาปฏิบัติกรรมฐานและมีอารมณ์รู้ได้ให้เข้ามาหา ถามว่า
“นี่..เมื่อคืนนี้ไปสวดที่บ้านนั้น มันเมากันบ้างหรือเปล่า “ เขาบอกว่า
“แหม..หลวงอาครับ มันเมากันหมดทั้งบ้านเลย บารมีเลวครบถ้วนหมด” ก็เลยถามว่า “เวลาแกสวดน่ะ แกสวดให้ผีฟังใช่ไหม”


ที่ว่า "สวดให้ผีฟัง" ก็หมายความว่า สวดตามประเพณีมีฟังบ้าง ไม่ฟังบ้าง ก็เลยถามว่า “เวลาแกสวดน่ะแกเอาจิตดูใครเขาบ้างหรือเปล่า” เขาบอกว่า “ดูครับ” เพราะเคยสอนเขาไว้ว่า เวลาไปสวดอย่าไปเฉยๆ เวลาเขาทำบุญบ้านไหนอย่าไปเฉย ๆ ให้รู้เรื่องด้วย
ก็เลยถามว่า “มีใครมาบ้าง” “มีเปรตกับพวกอสุรกายเป็นตับหมด เปรตมันมาแย่งอาหารกินและพวกอสุรกายมันก็มาแย่งอาหารที่เขาทิ้งแล้วกิน” เลยถามว่า “เทวดาไม่มีเลยหรือ” “ ไม่มีเลยครับ หาไม่ได้เลย”


นี่ความจริงมันเป็นอย่างนี้ เทวดาองค์นั้นท่านต้องการให้เรารู้เรื่องนี้ จึงถามลูกน้อง ความจริงท่านต้องไปถามทำไม เพราะท่านต้องรู้อยู่แล้ว ที่ท่านทำแบบนี้ก็เพื่อต้องการให้เรารู้ เพื่อเป็นเครื่องยืนยัน
ฉะนั้นวันทำบุญอย่างให้มีบาปและวันทำบุญจริงๆ เวลาเริ่มอย่าให้มันมีบาปเข้ามาปะทะหน้า ถ้าหากมีบาปเข้ามาปะทะหน้าแล้ว บุญมันเข้าไม่ได้หรอก เพราะบาปกับบุญมันไม่ถูกกัน เริ่มต้นงานก็เชือดไก่ เชือดปลา เลี้ยงเหล้า ฯลฯ อารมณ์มันเป็นอกุศลแล้ว อารมณ์กุศลมันก็เข้าไม่ได้


ถ้าจะทำแบบโลกไม่ช้ำธรรมไม่เสีย วันต้นงานให้มันเรียบร้อยทุกอย่าง อย่าให้มันมีบาปเข้ามาปะทะ ถ้าทำบุญเสร็จกิจที่เป็นเรื่องของพระเสร็จแล้ว จะเลี้ยงเหล้ายาปลาปิ้งกันว่ากันไป ให้มันไปอยู่เสียคนละวัน


แหม..บางบ้านบอกทำบุญเยอะ ทำบุญหมดไปตั้งหลายหมื่น พระฉันไปสักกี่ช้อน และอีตอนพระฉันน่ะเป็นบุญหรือเปล่ายังไม่แน่เลย จิตของเจ้าภาพรับบุญหรือเปล่า บางทีรักษาประเพณีกันเกินพอดีไป พอพระจะให้ศีลเจ้าภาพบอกไม่ว่าง อย่างเขาจะถวายทานก็ไม่ว่าง พระจะเทศน์ไม่ว่างอีก บุญมันมีตรงนี้ ถ้าไม่ว่างตรงนี้ แล้วจะเอาอะไร


ฉะนั้นการทำงานใหญ่ ๆ สู้อานิสงส์ของการถวายสังฆทานไม่ได้แบบนี้ลงทุนเท่าไหร่ ถ้าหากว่ากำลังทรัพย์เรามีไม่มากนัก จะถวายของอย่างละนิดอย่างละหน่อยก็ได้ เขาไม่ได้จำกัดและความกังวลแบบนั้นไม่มี สิ่งที่เป็นบาปแบบนั้นไม่มี ผลที่ได้รับต่างกันกับทำแบบนั้นหลายร้อยเท่า ยิ่งทำงานมากเท่าไร ความกังวลก็มากเท่านั้น กังวลดีก็มี กังวลเลวก็มี บางทีก็โมโหโทโสใช่ไหม “แหม..หมดนี่เสือกมาเมาเกะกะซะอีกแล้ว” เรื่องจริง ๆ เป็นอย่างนี้


อย่างการ ถวายสังฆทาน แบบนี้จิตมันบริสุทธิ์ งานก็ไม่มีกังวลมากไม่ต้องไปเลี้ยงเหล้าใคร เวลาจะรับศีลก็ไม่มีใครมาสะกิดข้าง ๆ ว่าแขกมาเวลาจะถวายทานก็ไม่มีใครมากวนใจ ทำอย่างนี้ได้บุญเยอะ บางบ้านเราขึ้นไป โอโฮ้ลงทุนตั้งเยอะ สมัยก่อนตอนที่เทศน์อยู่ ถ้าลงทุนเป็นพันเป็นหมื่นก็แย่แล้วนะ ค่าของเงินมันสูง บางทีตั้งแต่เริ่มต้นงานจนกระทั่งถึงงานเลิก ทำบุญไม่ได้บุญเลยก็มี
แบบนี้บ่อยๆ ก็เลยเบื่อ ไม่ไปดีกว่า จะไปทำไมถ้าไปแล้วเขาไม่ได้บุญ ไม่ใช่ไม่ได้บุญอย่างเดียวนะ มันได้บาปด้วย บางครั้งเอาพระเป็นลูกจ้างเสียอีก ก็ว่าไปตามเรื่องของเขา จะว่าอะไรก็ว่าตามเรื่อง ต้องการอะไรก็พูดส่งเดช มันก็เป็นการปรามาสไปในตัวเสร็จ สบาย..แบบนี้ลงหลายชั้น ไม่ใช่ชั้นเดียวนะ แบบนี้เขาเรียกว่า "ทำบุญแล้วลงนรก..!"







จาก - หนังสือ "พ่อรักลูก" โดย..พระราชพรหมยาน วัดท่าซุง

วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2552

ประโยชน์ของพระธรรมที่จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน


ประโยชน์ของพระธรรมที่จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

คนส่วนใหญ่มักพูดว่า ตนไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม เพราะงานประจำมีมากบ้าง ไม่มีเวลาว่างบ้าง ซึ่งล้วนเป็นการเข้าใจผิด ข้อเท็จจริงถ้าเรามีเวลาหายใจ เราก็มีเวลาปฏิบัติธรรม เพราะตั้งแต่เราเกิดออกมาจากท้องแม่เรา เราก็ต้องหายใจตลอดเวลา หยุดหายใจเมื่อใดเราก็ตายเมื่อนั้น (ทางแพทย์หยุดหายใจ ประมาณ 2 นาที ก็ตาย ) แต่เราหายใจแบบทิ้งๆ ขว้างๆ ไป เหมือนปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะความเข้าใจผิดๆ จึงหาประโยชน์จากธรรมชาติไม่พบ (ธรรมะ แปลว่าธรรมชาติ หรือธรรมดามีอยู่แล้วเป็นปกติในโลก แต่คนไม่ฉลาดจึงไม่พบ จนกระทั่งพระพุทธเจ้าท่านลงมาตรัสรู้ (เกิด) และพบพระธรรมจากธรรมชาตินี้ก่อนผู้อื่น เมื่อทดลองปฏิบัติจนเกิดผลดีแล้ว จึงรวบรวมพระธรรมขึ้น และสอนผู้อื่นให้รู้ ให้เห็นตามท่านมาจนทุกวันนี้ )
เมื่อเข้าใจแล้ว เราก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในที่ทุกแห่ง ทุกเวลา ทุกโอกาส และทุกอิริยาบท ฉะนั้น การเรียน หรือการทำงานทางโลก เราก็สามารถทำไปพร้อมๆ กับทางธรรมได้ โดยให้ร่างกายทำงานไปทางโลก ส่วนใจหรือจิตก็ทำงานไปทางธรรมต่างคนต่างทำงานโดยไม่ขัดกัน ไม่เสียเวลา 2 ครั้ง เช่น ขณะออกกำลังกาย ก็สามารถปฏิบัติธรรมได้อย่างน้อย 3 อย่าง คือ
1. เอาจิตกำหนดรู้ลมหายใจเข้าและออกไปด้วยจัดเป็น อานาปานุสสติกรรมฐาน
(เป็นกายกรรม)
2. เอาจิตนึกภาวนาไปด้วย เวลาหายใจเข้านึกว่าพุท เวลาหายใจออกนึกว่าโธ พุทโธเป็
พระนามย่อของพระพุทธเจ้า การนึกถึงพระพุทธเจ้าจึงเป็นพุทธนุสสติกรรมฐาน (พระองค์ตรัสว่า ผู้ใดก่อนจะตาย หากเอาจิตนึกถึงตถาคตแล้วเขาจะไม่ตกนรก) ( เป็นวจีกรรม)
3. เอาจิตนึกถึงภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งที่เราพอใจ เช่นภาพพระพุทธชินราช
หรือภาพหลวงพ่อโต หรือภาพหลวงพ่อโสธร หรือภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง หรือหลวงพ่อฤาษีที่เรากราบไหว้อยู่เป็นปกติที่บ้าน (เป็นมโนกรรม)

การปฏิบัติใหม่ๆ อาจทำได้ไม่ครบทั้ง 3 ข้อ เพราะยังไม่ชำนาญก็ให้ทำทีละข้อ หรือใหม่ๆอาจเผลอไปบ้างเป็นธรรมดา แต่เมื่อรู้ก็เริ่มต้นใหม่ ทำบ่อยๆด้วยความเพียร ในไม่ช้าจิตก็จะชินไปเอง จนที่สุดก็จะสามารถทำได้ตลอดเวลา แม้เวลานอนก็จะภาวนาไปจนกว่าจะหลับ ใครปฏิบัติได้ตามนี้ เขาผู้นั้นจะไม่มีทางตกนรก
ขณะทำกิจอื่นๆ เช่น ระหว่างนั่งรถไปโรงเรียน ไปทำงาน หรือยามว่าง ก็ปฏิบัติธรรมได้โดยใช้ใจปฏิบัติ เพราะพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “ธรรมหรือกรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐสุด (มีใจเป็นใหญ่) ทุกสิ่งสำเร็จได้ที่ใจ” ท่านให้เอาเจตนาของใจเป็นหลัก ไม่ให้ดูกายและวาจา เพราะกายและวาจาอยู่ในอำนาจของใจ (คนชั่วย่อมเล่นละคร แสดงละครหลอกผู้อื่นได้อย่างดีด้วยการแสดงทางกายและทางวาจา ซึ่งชาวโลกเขากำลังแสดงกันอยู่ในขณะนี้)

วิธีแก้ไข
ให้ตั้งคำถามใจตนเองแล้วตอบเอง ด้วยคำถาม 3 ข้อ คือ บุญคืออะไร, บุญอยู่ที่ไหน, บุญเกิดได้อย่างไร เพียงเท่านี้เราอยู่ที่ไหน กำลังทำอะไรอยู่ เราก็หาบุญให้กับตนเองได้ตลอดเวลา
1. บุญคืออะไร บุญก็คือความดี อะไรก็ตามที่เราคิด-พูด-ทำ แล้วเป็นความดี ไม่ผิดศีล
ไม่ผิดธรรม สิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นบุญทั้งสิ้น
2. บุญอยู่ที่ไหน บุญ-บาป, ดี-ชั่ว ล้วนอยู่ที่ใจเราทั้งสิ้น มิได้อยู่ตามเขา, ตามถ้ำ, ตามวัด ตามป่า หากอยู่ที่ใจเรานั่นเอง จงอย่าหาบุญนอกตัวเรา นอกใจของเรา
3. บุญเกิดได้อย่างไร บุญ-บาป เกิดจากความคิดของเราเองทั้งสิ้น คิดดีก็เป็นบุญ เป็นความดี เป็นกุศล หากคิดไม่ดี จิตเราก็เศร้าหมอง เป็นทุกข์หรือบาป อกุศล
ดังนั้นบุญ-บาปจึงเกิดที่ใจ เกิดจากความคิดของเราเป็นปฐมเหตุ แล้วจึงล้นจากใจออกไปสู่วาจา และสู่กายตามลำดับ
เมื่อเข้าใจความหมาย 3 ประโยคนี้แล้ว ก็จงนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อตัดสินสิ่งที่มากระทบใจเรา จากทาง ตา-หู-จมูก-ลิ้น และกายได้อย่างดี ว่าสิ่งใดถูก-ผิด, ควรหรือไม่ควร, มีประโยชน์ หรือไม่มีประโยชน์, มีคุณหรือมีโทษ, ผู้รู้ติเตือนหรือไม่ติเตือน, ทำให้เป็นทุกข์ หรือไม่เป็นทุกข์ หากเราพิจารณาแล้วเห็นว่าสิ่งนั้นไม่สมควร, ไม่มีประโยชน์, มีโทษ, ผู้รู้ติเตือน, ทำให้เกิดทุกข์, เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น เราก็จงละธรรมหรือกรรมนั้นเสีย คืออย่าคิดต่อไป, อย่าพูดต่อไป, อย่าทำต่อไป เพราะเป็นอกุศลกรรม เช่น
- การนั่งประท้วงอดอาหาร เพื่อให้รัฐบาลทำตามความคิดของตน
- การเดินขบวนประท้วงรัฐบาลให้ทำตามความคิดของตน จนเกิดเหตุการณ์รุนแรง
ขนาดเผาบ้าน เผาเมืองทำลายของของรัฐอันเป็นสมบัติ และเป็นเงินภาษีของประชาชนทุกคน อย่างคนขาดสติ บ้าเลือด แล้วอ้างตนเองว่าเป็นวีรชน, เป็นคนรักชาติ, เป็นความดี, เป็นประชาธิปไตยแท้จริง ที่สามารถทำอะไรก็ได้ตามใจตนโดยไม่คิดถึงกฏหมายใช้กฏหมู่อยู่เหนือกฏหมาย ทำให้ประชาชนทั้งประเทศเดือดร้อน ขอยกตัวอย่างมาเป็นแนวให้คิดเพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือของนักปลุกระดม หรือนักการเมือง ปัญหาเหล่านี้ สามารถใช้หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องพิจารณาตัดสินด้วยตนเองได้อย่างถูกต้อง หรือจะใช้หลักธรรมที่พราหมณถามพระองค์ว่า จะใช้หลักอย่างใดตัดสินว่าใครดี หรือไม่ดี เป็นเครื่องพิจารณาตัดสิน ทรงตรัสให้ใช้หลักธรรม 2 ข้อ เป็นเครื่องตัดสินคือ
1. ต้องมีศีล
2. ต้องมีความกตัญญูรู้คุณท่าน
สรุปว่า ผู้ใดที่ใคร่ครวญธรรมะหรือพิจารณาธรรมะอยู่เสมอจิตของผู้นั้นจะไม่มีวันเสื่อมจากสัจธรรม (ซึ่งเป็นพุทธพจน์)

“เหตุการณ์ของบ้านเมืองระหว่างวันที่ 18 พ.ค.-25 พ.ค. 35” และในปัจจุบันนี้ เป็นของจริงที่เด็กหรือเยาวชนของชาติได้พบเห็นด้วยตา และได้ยินด้วยหูของตนเอง แต่กำลังถูกพวกที่ไม่มีศาสนายุแหย่ ด้วยอุบายต่างๆเพือให้เข้าใจผิด (ไม่มีศาสนาเพราะเขาปฏิเสธชัดเจนว่า เทวดา-พรหมไม่มี, นรก-สวรรค์ไม่มี, คนตายแล้วสูญ เป็นการปรามาสพระธรรม ซึ่งเท่ากับปรามาสพระพุทธเจ้าโดยตรง ตั้งตนเป็นศัตรูกับคำสอนของพระพุทธเจ้าเขาจึงทำชั่วได้ทุกอย่างโดยไม่ต้องรับผิดชอบ)
ดังนั้น เพื่อป้องกันเด็กๆ เข้าใจผิดต่เหตุการณ์ดังกล่าว จึงให้เด็กทุกคนใช้ที่พึ่งอันสุดท้ายคือ ใช้ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน โดยใช้หลักขอพุทธศาสนาเป็นเครื่องพิจารณาตัดสินใจ สิ่งใดถูก-ผิด, ดีหรือเลว, เป็นบุหรือบาป, ควรหรืไม่ควร, มีประโยชน์ หรือไม่มีประโยชน์, เป็นคุณหรือเป็นโทษ ด้วยความคิดของตนเองว่า ระหว่างคำสอนของพระพุทธเจ้า กับคำสอนของคนที่ไม่มีศาสนานั้น เราควรจะเชื่อใครดี
ธรรมะอีกข้อหนึ่งในพุทธศาสนา ซึ่งพระองค์ตรัสไว้คือ เทวธรรม คือธรรมที่ทำให้คนเป็นเทวดาได้ คือหิริและโอตตัปปะ
หิริ หมายถึง มีความละอายต่อความชั่ว(บาป) โอตตัปปะ หมายถึง เกรงกลัวผลของความชั่ว (กลัวผลของบาป) คนดีเขาจะไม่ทำชั่วทั้งต่อหน้าและลับหลัง เพราะกลัวบาปและเกรงว่าผลกรรมที่ตนทำบาปไว้ จะมาสนองตนเอง แต่คนที่ไม่เชื่อว่าเทวดามี พรหมมี, นรก-สวรรค์มีเท่ากับเขาไม่เชื่อว่าเทวธรรมี เขาจึงคิดชั่ว-ทำชั่ว-พูดชั่ว ได้ทุกอย่าง

ฉะนั้น ศีลทุกข้อเขาจึงไม่มีด้วย เราควรใช้ปัญญาให้มากก่อนที่จะเชื่ออะไร โดยใช้หลักทางพุทธศาสนาเป็นเครื่องตัดสินอย่าดูอาการแสดงทางกาย และวาจา ซึ่งเป็นของที่แกล้งทำขึ้นหลอกคนที่โง่กว่าตนได้ เหมือนนักแสดงละครชั้นดีทั่วๆไป ซึ่งไม่ใช่ของจริง เด็กทุกคนได้เห็น ได้ยินได้ฟัง ได้อ่านข่าวด้วยตนเองว่า มีคนกลุ่มหนึ่งมีผู้นำออกมาเผาบ้าน-เผาเมือง, ปล้นร้านค้า เผารถยนต์, เผาสถานีตำรวจ, เผารถดับเพลิงไปหลายสิบคัน, ทุบตู้โทรศัพท์สาธารณะให้เสียหาย แล้วเอาเงินในตู้ไป, ทำลายไฟสัญญาณจราจรเพื่อให้เกิดจลาจล, ขัดขวางเจ้าพนักงานที่ทำหน้าที่ตามกฏหมาย, หยิบของตามร้านค้าไปตามชอบใจแบบโจร, หรือคนขาดสติ-สัมปชัญญะ หรือคนที่กำลังบ้าเลือด การกระทำของพวกเหล่านี้ ซึ่งมีผู้นำเป็นแกนกลาง เป็นการกระทำที่เปิดเผย ทำกันซึ่งๆหน้าโดยไม่กลัวบาป และเกรงกลัวผลของบาป (ขาดหิริ-โอตตัปปะหรือเทวธรรม เพราะผู้นำเขาไม่เชื่อว่าเทวดามี จึงนำขบวนให้ทำได้ ตามใจชอบ และไม่เชื่อว่าเทวดามี จึงนำขบวนให้ทำได้ตามใจชอบ และไม่เชื่อว่านรกมี ตายแล้วก็สูญ) จึงขอให้เด็กๆ ทุกคนที่เห็นและทราบเหตุการณ์เหล่านี้ ใช้ปัญญาพิจารณาดูเอาเองว่า ขนาดต่อหน้าต่อตาเรา เขายังทำกันขนาดนี้ (ทำชั่วขนาดนี้) แล้วลับหลังเขาจะทำชั่วได้ขนาดไหน
(เป็นเหตุการณ์เมื่อ 18 พ.ค. 35 - 25 พ.ค. 35 )

สรุปว่า
1. เป็นโชคดีของเด็กๆ ที่ได้เห็นของจริง ในเหตุการณ์จริงๆ และได้ใช้ความคิดของตนเองเป็นเครื่องตัดสิน โดยอาศัยหลักทางพุทธศาสนาเป็นกฏเกณฑ์ เพราะพุทธเจ้าท่านหมดกิเลสแล้ว จึงเชื่อถือคำสอนของพระองค์ได้ จงอย่าใช้อารามณ์ของคนที่ยังมากอยู่ด้วยกิเลส-ตัณหา-อุปทาน และยังสร้างอกุศลกรรมอยู่ทุกวันเป็นหลักตัดสิน
2. เหตุผลที่พระองค์ใช้คำสรรพนามแทนพระองค์ว่า “ตถาคต” ก็เพราะ
- พระองค์เป็นผู้พบอริยสัจก่อนใครอื่นในโลก และมีแต่เฉพาะในพุทธศาสนาเท่านั้น (อริยสัจจัดเป็นวิปัสสนาญาณ หรือตัวปัญญาสูงสุดในพุทธศาสนา ที่ทำให้บุคคลมีดวงตาเห็นธรรม)
- ธรรมะที่พระองค์รวบรวมแล้วใช้สอนพวกเราตั้งแต่วันตรัสรู้ จนถึงวันปรินิพพาน ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยเปลี่ยนแปลง (เพราะเป็นสัจธรรม)
- สิ่งใดไม่จริง พระองค์ไม่ตรัส (เพราะพิสูจน์ด้วยพระองค์มาแล้ว จึงนำมาสอน) ตรัสอย่างใดก็เป็นอย่างนั้น ทำได้ตามที่พูดพูดได้ตามที่ได้ทำมา ตรัสอย่างใดจึงเป็นอย่างนั้นไม่เป็นอื่น (คำสอนของพระองค์ จึงไม่จำเป็นต้องพิสูจน์อีก เชื่อได้เลย)
- พระองค์เป็นธรรมราชา เป็นเจ้าของพุทธศาสนาเป็นพระองค์แรกในพุทธศาสนา จึงเป็นพี่ใหญ่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องก้มศีรษะให้กับใคร
ดังนั้น คำว่า ตถาคต จึงเป็นสัญลักษณ์เฉพาะของพระองค์ หมายถึงบุคคลที่กล่าวอย่างใด ก็เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอื่น
3. เขาว่า เรื่องใดที่เกี่ยวกับศาสนา หากผู้พูดใช้คำว่า “เขาว่า” ก็จงอย่าสนใจ ให้สนใจแต่ที่พระพุทธเจ้าท่านว่า เพราะเรากำลังพูด กำลังศึกษา และปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ ใครว่าก็เรื่องของเขา




แหล่งที่มา : “ธรรมที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ ”
โดย พระราชพรหมยานมหาเถระ (หลวงพ่อฤาษีวัดท่าซุง)
รวบรวมโดย : พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน




บ้านอิ่มบุญ

บ้านอิ่มบุญ
กลับหน้าหลัก